1) เนื้องอกในมดลูก (Myoma Uteri)
สาเหตุของการเกิดโรค
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มากขึ้นผิดปกติ มักพบมากกับหญิงวัยกลางคน ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร หรือมีโรคอ้วน
อาการของโรค
มักมีอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติและปวดท้องน้อยร่วมด้วย บางรายที่ไม่แสดงอาการ ต้องรับการตรวจจากสูตินรีแพทย์เท่านั้น
การรักษา
สามารถรักษาด้วยยาฮอร์โมน และอาจรักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นหรือมีความเสี่ยงของโรค
2) ถุงน้ำในรังไข่ (Cystic Ovary)
สาเหตุของการเกิดโรค
สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของรังไข่ ซึ่งแบ่งเป็นถุงน้ำปกติ หรือ Functional Cyst ซึ่งเกิดขึ้นและฝ่อได้เอง และและถุงน้ำที่ต้องผ่าตัด หรือ Ovarian Cyst สาเหตุที่ต้องผ่าตัด เนื่องจากไม่สามารถยุบได้เองตามธรรมชาติ
อาการของโรค
ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มามากหรือน้อยกว่าปกติ ปวดท้องน้อย ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน คลำพบก้อนที่ท้องน้อย ท้องขยายขึ้น ทานอาหารเพียงเล็กน้อยแต่รู้สึกอิ่ม ท้องอืด ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย ซึ่งถุงน้ำบางชนิด ถ้าปล่อยไว้นานอาจกลายเป็นมะเร็งได้
การรักษา
สามารถรักษาได้ โดยวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการอัลตร้าซาวนด์และรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีการผ่าตัดรักษาอยู่ 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบส่องกล้องและการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีข้อดี คือผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก เจ็บน้อย และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย
3) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
สาเหตุของการเกิดโรค
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญที่ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจาก การไหลย้อนทางของประจำเดือนผ่านท่อนำไข่ เข้าไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ รวมถึงอวัยวะอื่นที่ใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ภาวะนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์
อาการของโรค
อาการที่สามารถพบได้ ได้แก่ เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ปวดท้องน้อยเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
การรักษา
1) การใช้ยา
ได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อย และยาฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งยากิน ยาฉีด และห่วงฮอร์โมนสำหรับใส่ในโพรงมดลูก ซึ่งยาเหล่านี้จะทำให้รอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดการฝ่อ จึงช่วยลดอาการปวดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อยได้ แต่การรักษาวิธีนี้มีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในขณะที่ใช้ยา ดังนั้นหากผู้ป่วยต้องการมีบุตรจึงควรรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
2) การผ่าตัด
มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดเอารอยโรคออกให้หมดหรือตัดออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกรานกลับมาเป็นปกติ ซึ่งวิธีมาตรฐานของการผ่าตัดรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องโดยใช้กล้อง เนื่องจากแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว และที่สำคัญคือมีโอกาสเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ยังต้องการมีบุตร