ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ต่างต้องเสื่อมโทรมและถดถอยไปตามกาลเวลา สายตาของเราก็เช่นกัน การรู้เท่าทัน ‘โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย’ หรือ AMD จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ปัจจัยด้านใดบ้างที่เสี่ยงให้เกิดโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย .. มาดูกันเลย !
1) อายุ (age)
พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หากอายุมากกว่า 75 ปี จะมีความเสี่ยงเป็น 3 เท่า (ของกลุ่มที่มีอายุ 65 – 74 ปี) มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็ว เพื่อรักษาและช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต
2) การสูบบุหรี่ (Smoking)
คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุเป็น 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คนที่หยุดสูบบุหรี่แล้วจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และถ้าหยุดบุหรี่เกิน 20 ปี จะไม่พบความเสี่ยงของการสูญเสียการมองเห็นจากจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
3) ปัจจัยด้านอื่น ๆ
๐ มีพันธุกรรมเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
๐ ทานยาลดความดันเลือดเป็นประจำ
๐ มีระดับไขมันในเลือดสูง (Cholesterol)
๐ มีระดับสารแคโรทีนอยด์ในเลือดต่ำ (Carotenoid)*
๐ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน
๐ ผู้ที่ขาดวิตามินและเกลือแร่ที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี